วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สุนทรียศาสตร์ หรือ Aesthetics

สุนทรียศาสตร์ หรือ Aesthetics

Aesthetic สุนทรียภาพ กล่าวทางศิลปะหมายถึง ความรู้สึกโดยธรรมดาของคนเราทุกคนซึ่งรู้จักค่าของวัตถุที่งาม ความรู้สึกที่งามเป็นสุนทรียภาพนี้ ย่อมเป็นไปตามอุปนิสัย การอบรมและการสึกษาของแต่ละบุคคล ซึ่งเรียกรวมกันว่ารส (taste) เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนี้จึงอาจมีแตกต่างกันได้มาก แม้ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ซึ่งความรู้สึกเบื้องต้นของความงามที่เป็นสุนทรียภาพ ถ้าเจริญคลี่คลายขึ้นแล้วก็จะเปิดช่องให้ประสาทอินทรีย์รู้สึกชื่นชมยินดี คือรู้คุณค่าของวิจิตรศิลป์ (fine arts) ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นความงามที่เป็นสุนทรียภาพจึงได้แก่อินทรีย์คสามรู้สึกของบุคคล ซึ่งอาจเจริญงอกงามได้ด้วยอาศัยการฝึกฝนในการอ่าน การฟัง และการพินิจดูสิ่งที่งดงามเจริญใจไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งธรรมชาติหรือเป็นศิลปะ ดังเช่น ผู้ใดได้มองหรือเห็นสิ่งที่น่าเกลียด ก็มีความรู้สึกไม่พอใจขึ้นเองโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งนี้เป็นเพราะประสาทอินทรีย์ของผู้นั้นเกิดระคายเคืองขึ้นเองจากความไม่ประสานกันของสิ่งนั้นๆ ตรงกันข้ามถ้าเราได้ยินเสียงที่ไพเราะ หรือมองดูสิ่งที่งาม ความรู้สึกอิ่มเอิบใจก็จะเข้าครอบงำเป็นเจ้าเรือนในดวงใจของเราทันที
อันที่จริงบุคคลที่มีความรู้สึกเจริญคลี่คลายดีแล้วในเรื่องรู้รสรู้ค่าของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีอุปนิสัยหรือการศึกษามาดีแล้ว เมื่อได้อ่านได้ฟังหรือได้มองดูสิ่งซึ่งมีการประจักษ์ทางศิลปะอย่างสูง คือ ศิลปกรรมที่เลิศแล้วก็สามารถจะเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งถึงความรู้สึกสะเทือนใจทางสุนทรียภาพ (aesthetic emotion) เหตุฉะนั้นสุนทรียภาพในทางศิลปะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีสัมพันธ์อยู่กับประสาทอินทรีย์ความรู้สึกของศิลปินและกับทั้งศิลปกรรมด้วย
ยกตัวอย่าง เมื่อเราสังเกตเห็นลักษณะ การวางท่าทาง (posture) ของรูปรูปหนึ่ง “หยาบคาย” ไม่ละมุนละม่อม แม้รูปนั้นจะมีวิธีทำและมีการแสดงออก (expression) ทางศิลปะอย่างสมบูรณ์ แต่เราจะรู้สึกรู้ค่าในศิลปกรรมนั้นเต็มที่ไม่ได้ เพราะเส้นนอกของรูปภาพนั้นไม่เป็นสุนทรียภาพ กล่าวคือ ไม่มีความประสานกัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง รูปภาพหรือหนังสือที่ประพันธ์ขึ้น หรือการประจักษ์อย่างอื่นๆ ทางศิลปะที่ไม่สมควร ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ก็คือวาดหรือพรรณนาถึงสิ่งที่หยาบคายไม่ละมุนละม่อม แม้วาดหรือพรรณนาได้ดีเท่ากับถอดเอาออกมาจากของจริง แต่โดยเหตุที่มีลักษณะในตัวของมันองต่ำเราก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้มีปัญญาเกิดสนใจ ตรงกันข้าม พระพุทธรูปที่งาม หรือเทวรูปกรีก หรือศิลปกรรมอื่นๆที่เลิศ เมื่อดู อ่าน หรือฟังแล้วย่อมน้อมนำใจเราให้สู่ความคิดสูง ให้เรามีความรู้สึกสะเทือนใจในความงามขึ้นทันที เปรียบปรัดุจเป็นอำนาจของแม่เหล็กครอบงำอินทรีย์ความรู้สึกของเราทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะ วัตถุที่เราดูหรืออ่าน หรือเสียงที่เราได้ยินอยู่นั้น เข้าไปสัมพันธ์อยู่กับความปรารถนาทางจิตใจของเรา ทำให้เราใฝ่แสวงหาแต่สิ่งที่มีคุณงามความดีอันสูง แท้จริงความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา อันเนื่องมาแต่สุนทรียภาพที่มีอยู่ในสิ่งนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะความงามหรือความประณีตบรรจง
ที่มีอยู่เท่านั้นโดยลำพัง เพราะศิลปกรรมที่เลิศ ซึ่งนอกจากมีองค์ประกอบและวิธีทำที่สมบูรณ์แล้ว ยังต้องมีการแสดงความคิดสูง อันได้แก่ความคิดที่ยกจิตใจของผู้พินิจ ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดูงานศิลปกรรม

ไม่มีความคิดเห็น: